วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

วิชา หลักสูตรและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เอกสารประกอบการเรียนวิชา หลักสูตรสถานศึกษา

เหตุผลและความจำเป็น
            สังคมปัจจุบันเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร เป็นสังคมโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ยุคไร้พรมแดนทำให้การศึกษาต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ครูอาจารย์ในสถานศึกษาจึงต้องเป็นผู้ตัดสินใจพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรอย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน จึงจะได้หลักสูตรเชิงรุกมิใช้หลักสูตรเชิงรับ การพัฒนาหลักสูตรจากหน่วยงานกลาง หรือกรมวิชาการ ต้องใช้เวลามาก กว่าจะประกาศใช้ไปตามโรงเรียนต่าง ๆ มักจะล่าช้า พลาดโอกาสต่อการจัดการเรียนการสอนให้เป็นตัวนำสังคม ดังคำพังเพยว่า กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้
            การปฏิรูปการศึกษาของไทย ที่สำคัญด้านหนึ่ง คือ การปฏิรูปหลักสูตรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2544 มาตรา 43 กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี และมาตรา 81 รัฐต้องจัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ จากกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.. 2540 จึงได้มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 (ซึ่งปัจจุบัน เน้นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) .. 2545) ซึ่งเป็นกฎหมายการศึกษาฉบับแรกของไทย
            พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 มาตรา 27 กำหนดให้คณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลาง การศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองดีของชาติ การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรโดยนำสาระของหลักสูตรแกนกลางของประเทศไทยไปผนวกกับสาระในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่นจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาพชุมชนและทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลาง หรือหลักสูตรระดับชาติ จากเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวข้างต้น มีผลให้สถานศึกษาต่าง ๆ ต้องดำเนินการจัดทำหลักสูตรของสถานศึกษา



ความหมายของหลักสูตรสถานศึกษา
            หลักสูตรสถานศึกษา เป็นแผนหรือแนวทาง หรือข้อกำหนดของการจัดการศึกษาในแต่ละสถานศึกษา เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถ โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนแต่ละคนพัฒนาไปสู่ศักยภาพสูงสุดของตน โดยสถานศึกษาจะต้องนำกรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ไปจัดทำเป็นสาระหลักสูตรสถานศึกษา ผนวกกับสาระการเรียนรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามสถานศึกษากำหนดเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชนและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ความสำคัญของหลักสูตรสถานศึกษา
            หลักสูตรสถานศึกษา มีความสำคัญต่อการช่วยพัฒนาผู้เรียนในทุก ๆ ด้านสามารถชี้แนะให้ผู้บริการสถานศึกษา ครู อาจารย์ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาได้พยายามจัดมวลประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองในด้านความรู้ ทักษะ คุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์บรรลุตามจุดหมายของการจัดการศึกษา
            สถานศึกษาจะต้องทำงานร่วมกับครอบครัวและชุมชน ท้องถิ่น วัดหน่วยงานและสถานศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดผลตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรสองประการ ซึ่งจุดมุ่งหมายทั้งสองประการนี้ให้แนวทางที่สำคัญซึ่งสถานศึกษาต้องพัฒนาหลักสูตรภายในบริบทและแนวทางนั้น ๆ ดังนี้
            1.หลักสูตรสถานศึกษาควรพัฒนาให้เด็กเกิดความสนุกและความเพลิดเพลินในการเรียนรู้เปรียบเสมือนเป็นวิธีสร้างกำลังใจและเร้าใจให้เกิดความก้าวหน้าแก่ผู้เรียนให้ได้มากที่สุด มีความรู้สูงสุด สำหรับผู้เรียนทุกคน ควรสร้างความเข้มแข็ง ความสนใจ และประสบการณ์ให้ผู้เรียนและพัฒนาความมั่นใจ ให้เรียนและทำงานอย่างเป็นอิสระและร่วมใจกัน ควรให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้สำคัญ ๆ ในการอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น ได้ข้อมูลสารสนเทศ และเทคโนโลยีสื่อสาร ส่งเสริมจิตใจที่อยากรู้อยากเห็น และมีกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล
            2. หลักสูตรสถานศึกษาควรส่งเสริมการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ จริยธรรมสังคมและวัฒนธรรม และโดยเฉพาะพัฒนาหลักการในการจำแนกระหว่างถูกและผิด เข้าใจและศรัทธาในความเชื่อของตน ความเชื่อและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มีอิทธิพลต่อตัวบุคคลและสังคม หลักสูตรสถานศึกษาต้องพัฒนาหลักคุณธรรมและความอิสระของผู้เรียนและช่วยให้เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ สามารถช่วยพัฒนาสังคมให้เป็นธรรมขึ้น มีความเสมอภาค ควรพัฒนาความตระหนัก เข้าใจ และยอมรับสภาพแวดล้อมที่ตนดำรงชีวิตอยู่ ยึดมั่นในข้อตกลงร่วมกันต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับส่วนตนระดับท้องถิ่ม ระดับชาติ และระดับโลก หลักสูตรสถานศึกษาควรสร้างให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการเป็นผู้บริโภคที่ตัดสินใจแบบมีข้อมูลและเป็นอิสระและเข้าใจในความรับผิดชอบ



กระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
            หลักสูตรจะต้องสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจและเปลี่ยนไปตามธรรมชาติของการศึกษา ผู้สอนต้องปรับปรุงกระบวนการสอนและประเมินกระบวนการสอนของตน เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมการศึกษาจะเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ถ้าหลักสูตรมีการปรับปรุง ให้เป็นไปตามความต้องการและความจำเป็นตลอดเวลา
            การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา เป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญในการบริหารจัดการหลักสูตร ซึ่งภารกิจในการบริหารจัดการหลักสูตร ประกอบด้วย
            ภารกิจที่ 1       การเตรียมความพร้อม
            ภารกิจที่ 2       การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
            ภารกิจที่ 3       การวางแผนดำเนินการใช้หลักสูตร
            ภารกิจที่ 4       การดำเนินการบริหารหลักสูตร (ใช้หลักสูตร)
            ภารกิจที่ 5       การนิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผล
            ภารกิจที่ 6       การสรุปผลการดำเนินงาน
            ภารกิจที่ 7       การปรับปรุงพัฒนา

คณะกรรมการในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
            กรรมการสถานศึกษา ผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้ปกครอง ชุมชน นักเรียน ร่วมมือกันบริหารจัดการหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษา ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.. 2543 มีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้ (5,13)
            ข้อ 5 ให้มีคณะกรรมการอย่างน้อยสถานศึกษาละเจ็ดคน แต่ไม่เกินสิบห้าคนประกอบด้วย
1. “ผู้แทนผู้ปกครองได้แก่ ผู้แทนของผู้มีรายชื่อเป็นผู้ปกครองตามทะเบียนนักเรียนที่
กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษานั้น จำนวนไม่เกินสองคน
2. “ผู้แทนครูได้แก่ ผู้แทนของข้าราชการครูผู้ปฏิบัติการสอนและผู้ช่วยผู้บริหารสถาน
ศึกษานั้น จำนวนไม่เกินสองคน
3. “ผู้แทนองค์กรชุมชนได้แก่ ผู้แทนของชมรม สมาคม มูลนิธิ องค์กรเอกชนหรือกลุ่ม
บุคคลในรูปอื่นใด ที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ และมีที่ตั้งอยู่ในเขตบริการของสถานศึกษานั้น จำนวนไม่เกินสองคน
4. “ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้แก่ ผู้แทนของเทศบาล องค์การบริหารส่วน
จังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น จำนวนไม่เกินสองคย
5. “ผู้แทนศิษย์เก่าได้แก่ ผู้แทนของสมาคมศิษย์เก่า ชมรมศิษย์เก่าหรือบุคคลที่เคย
ศึกษาจากสถานศึกษานั้น จำนวนไม่เกินสองคน
6. “ผู้ทรงคุณวุฒิได้แก่ ผู้นำทางศาสนา ผู้ทรงภูมิปัญญาไทยในท้องถิ่นข้าราชการ
บำนาญ ข้าราชการอื่นนอกสังคมสถานศึกษา พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐ เจ้าของหรือผู้บริหารสถานประกอบการ ทั้งในและนอกเขตบริการของสถานศึกษานั้น จำนวนไม่เกินสี่คน
ให้ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งใน (1) (3) (4) (5) และ (6) เป็นประธานและอีกคนหนึ่งเป็นรองประธาน
            ข้อ 13 คณะกรรมการมีหน้าที่ดังนี้
(1)   กำหนดนโยบาย และแผนพัฒนาของสถานศึกษา
(2)   ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการประจำปีของสถานศึกษา
(3)   ให้ความเห็นชอบในการจัดทำสาระหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น
(4)   กำกับ และติดตามการดำเนินงานตามแผนของสถานศึกษา
(5)    ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กทุกคนในเขตบริการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึงมีคุณภาพและได้มาตรฐาน
(6)    ส่งเสริมให้มีการพิทักษัสิทธิเด็ก ดูแลเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาสและเด็กที่มีความสามารถพิเศษให้ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ
(7)    เสนอแนวทางและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านวิชาการด้านงบประมาณด้านการบริหารงานบุคคล และด้านการบริหารทั่วไป ของสถานศึกษา
(8)    ส่งเสริมให้มีการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา ตลอดจนวิทยากร ภายนอกและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของนักเรียนทุกด้าน รวมทั้งสืบสานจารีตประเพณี ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและของชาติ
(9)    เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน ตลอดจนประสานงานกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สถานศึกษาเป็นแหล่งวิทยาการของชุมชนและมีส่วนในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น
(10) ให้ความเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานประจำปี ของสถานศึกษาก่อนเสนอต่อสาธารณชน
(11) แต่งตั้งที่ปรึกษาและหรือคณะอนุกรรมการเพื่อการดำเนินงานตามระเบียบนี้ตามที่เห็นสมควร
(12) ปฏิบัติการอื่นตามที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษานั้น
ข้อ 14 ให้มีการประชุมคณะกรรมการ อย่างน้อยภาคเรียนละสองครั้งการดำเนินการประชุมคณะกรรมการ ให้เป็นไปตามระเบียบวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด โดยให้มีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่มีอยู่ในขณะนั้นและให้มีผู้แทนของนักเรียนเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรแล้วแต่กรณี
            ในกรณีที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของนักเรียนโดยตรง ให้รีบฟังความคิดเห็นของนักเรียนประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการด้วย
            ให้ผู้บริหารสถานศึกษารายงานผลการประชุมต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปชั้นหนึ่งภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่มีการประชุม

ลำดับขั้นตอนของการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
            สถานศึกษาดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารหลักสูตร และงานวิชาการสถานศึกษา อยู่ภายใต้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษาแต่งตั้งโดยผู้บังคับบัญชาเหนือสถานศึกษาขึ้นไป หนึ่งระดับ คณะกรรมการประกอบด้วย
1.      ผู้บริหารสถานศึกษา เป็นประธานกรรมการ
2.      ผู้ช่วยบริหารที่ผู้บริหารสถานศึกษามอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ
3.      หัวหน้าหมวดวิชาหรือกลุ่มวิชาเป็นกรรมการ
4.      หัวหน้างานแนะแนว เป็นกรรมการ
5.      หัวหน้างานวัดผลและประเมินผล เป็นกรรมการ
6.      ผู้ช่วยผู้บริหารฝ่ายวิชาการ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้คณะกรรมการมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
บทบาท-หน้าที่ของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและงานวิชาการสถานศึกษา
1. วางแผนการดำเนินงานวิชาการ กำหนดสาระรายละเอียดของหลักสูตรระดับสถานศึกษา และแนวการจัดสัดส่วน สาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของสถานศึกษาให้สอดคล้องต้องกัน หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม ภูมีปัญญาตามท้องถิ่น
2. จัดทำคู่มือการบริหารหลักสูตรและงานวิชาการของสถานศึกษา นิเทศก์กับติดตามให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร การจัดกระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลและการแนะแนวให้สอดคล้องกันและเป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาขึ้นพื้นฐาน
3. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคคลเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร การจัดกระบวนการเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผล การแนะแนวให้เป็นไปตามจุดหมายและแนวทางการดำเนินการของหลักสูตร
4. ประชาสัมพันธ์หลักสูตรและการใช้หลักสูตรแก่นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง และนำข้อมูลจากฝ่ายต่าง ๆ มาพิจารณาเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรและสถานศึกษา
5. ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้
6. ติดตามผลการเรียนของนักเรียนรายบุคคล ระดับชั้น ระดับช่วงชั้น และระดับกลุ่มวิชาในแต่ละปีการศึกษา เพื่อปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาการดำเนินงานต่าง ๆ ของสถานศึกษา
            7. ตรวจสอบ ทบทวน ประเมินมาตรฐานการปฏิบัติงานของครู และการบริหารหลักสูตรระดับสถานศึกษาในรอบปีที่ผ่านมา แล้วใช้ผลการประเมินเมื่อวางแผนการปฏิบัติงานของครูและการบริหารหลักสูตรปีการศึกษาต่อไป
            คณะกรรมการระดับกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีจำนวน 9 คณะ เรียกชื่อคณะอนุกรรมการตามชื่อกลุ่ม สาระการเรียนรู้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ กลุ่มภาษาไทย กลุ่มสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม กลุ่มสุขศึกษาและพละศึกษา กลุ่มคณิตศาสตร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์ กลุ่มศิลป กลุ่มการงานอาชีพและเทคโนโลยี กลุ่มภาษาต่างประเทศ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน อยู่ภายใต้คณะกรรมการการบริหารหลักสูตรและงานวิชาการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่งตั้งโดยผู้บริหารสถานศึกษา คณะอนุกรรมการ แต่ละคณะประกอบด้วย
1.      หัวหน้าหมวดวิชาหรือกลุ่มวิชา เป็นประธานอนุกรรมการ
2.      ครู-อาจารย์ ทุกคนในหมวดวิชาหรือกลุ่มวิชา เป็นอนุกรรมการ
3.      รองหัวหน้าหมวดวิชาหรือกลุ่มวิชา เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
ในกรณีที่สถานศึกษาไม่มีรองหัวหน้าหมวดวิชาหรือกลุ่มวิชาให้ผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมแทน และในกรณีที่สถานศึกษาไม่ได้จัดกลุ่มวิชาตามชื่อกลุ่มวิชาของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้พิจารณากำหนดจำรวนคณะอนุกรรมการตามกลุ่มวิชาของสถานศึกษาให้คณะอนุกรรมการมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
บทบาท/หน้าที่ของอนุกรรมการระดับกลุ่มวิชา
                1. กำหนดสัดส่วนสาระการเรียนรู้กลุ่มวิชาและพัฒนาหลักสูตรรายวิชาของกลุ่มวิชาในสาระการเรียนรู้พื้นฐาน และสาระการเรียนรู้เพิ่มเติมตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                2. ดำเนินการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้รายวิชาต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แสดงความสามารถที่แท้จริงของนักเรียน
               3. พัฒนาแผนการสอนรายวิชาที่เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อให้ผู้สอนสามารถปรับใช้ตามความเหมาะสมและให้การสอบนำไปสู่การเรียนรู้มากที่สุด
4. พัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด
4.      กำหนดการพัฒนาเครื่องมือและกำกับติดตาม การดำเนินการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของ
นักเรียนให้เน้นไปตามมาตรฐานการเรียนรู้กลุ่มวิชาที่กำหนด
6. วิเคราะห์พัฒนาการของนักเรียนเป็นรายบุคคลและรายกลุ่ม
7. ดำเนินการวิจัยการศึกษาในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาการเรียนรู้และการวัดและประเมินผล
8. นิเทศภายใน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน และ
ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน
9. รวบรวมข้อมูลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรรายวิชา และการจัดกระบวนการเรียนรู้
ตลอดจนตรวจสอบและประเมินการบริหารหลักสูตรรายวิชาและกลุ่มวิชาในภาคเรียนที่ผ่านมา และวางแผนพัฒนาการบริหารหลักสูตรในภาคเรียนต่อไป
10. รายงานผลการปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงานของครู-อาจารย์และผลงานการบริหารหลัก
สูตรของกลุ่มวิชาโดยเน้นผลที่เกิดกับผู้เรียนต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตร และงานวิชาการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้เกี่ยวข้อง
11. ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

องค์ประกอบของหลักสูตรสถานศึกษา
หลักสูตรสถานศึกษา ควรประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ ๆ ดังนี้
1.      ข้อมูลทั่วไปของสถานศึกษา
1.1 ประวัติโรงเรียน ประวัติที่ตั้ง ขนาด จำนวนพื้นที่ ลักษณะ การจัดตั้งสถานภาพของสถานศึกษา ระดับการศึกษาที่เปิดสอน จำนวนนักเรียน ความสามารถพิเศษ ระดับการศึกษาที่เปิดสอน จำนวนห้องเรียนและห้องปฏิบัติกิจกรรม อัตราการย้ายเข้าออกของนักเรียน
1.2  ศักยภาพของสถานศึกษา จุดเด่น จุดด้อย โอกาส ปัจจัยเอื้อในการพัฒนาสถานศึกษา ความสำเร็จ ความภาคภูมิใจของสถานศึกษา
1.3  ความต้องการของชุมชน ความต้องการของชุมชนเกี่ยวกับอาชีพ การศึกษาต่อ ความต้องการของชุมชนเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
1.4  แนวโน้มการพัฒนาท้องถิ่น สภาพเศรษฐกิจของชุมชนและผู้ปกครอง สภาพสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน สภาพทรัพยากร จำนวนประชากรในเขตพื้นที่บริการ
1.5  แนวทางการจัดการศึกษา ทิศทาง ข้อความระบุวิสัยทัศน์ กระบวนการจัดทำ วิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมายสถานศึกษา ความสอดคล้องของวิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมายของสถานศึกษา
1.6  การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการนักเรียนจำนวนครั้งของการเข้าร่วมในรอบปี รายชื่อคณะกรรมการที่เข้าร่วม สาระสำคัญของการประชุมโครงสร้างการบริหารงานของคณะกรรมการ
2.      สารสนเทศที่เกี่ยวกับผู้เรียน
2.1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน จำนวนผู้เรียนทั้งหมดที่สอบผ่านแต่ละกลุ่มสาระ คะแนนสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนแต่ละกลุ่มสาระแต่ละช่วงชั้น จำนวนผู้เรียนทั้งหมดแต่ละช่วงชั้น
2.2  คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน จำนวนผู้เรียนที่ผ่าน ไม่ผ่าน การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามเกณฑ์มาตรฐาน
2.3  ผลงานการแสดงออกของผู้เรียน กระบวนการทำงาน คุณภาพและปริมาณชิ้นงานของผู้เรียน การพัฒนาการทำงานของผู้เรียน บรรยากาศภายในชั้นเรียน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน วิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน
3.      สารสนเทศเพื่อการบริหารงานอาชีพ
3.1 หลักสูตรและการเรียนการสอน จำนวนชั้นเรียน จำนวนรายวิชาที่เปิดสอน เวลาเรียนแต่ละ
กลุ่มวิชา
3.2 ความสอดคล้องของหลักสูตรกับความต้องการของท้องถิ่น ผลสำรวจความต้องการของชุมชน ท้องถิ่น รายวิชาที่เปิดสอน จำนวนรายวิชาผู้เรียนที่เลือกเรียนรายวิชาต่าง ๆ
3.3 เทคนิควิธีการสอนที่ครูนำมาใช้ สำนวน ประเภทเทคนิควิธีการสอนที่ครูนำมาใช้แผนการสอน
3.4 ร้อยละของรายวิชาที่ปรับสาระการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ผู้ปกครองและชุมชน จำนวนรายวิชาที่ปรับสาระการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ผู้ปกครองและชุมชน จำนวนรายวิชาที่เปิดสอนทั้งหมดในโรงเรียน
3.5 การมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน สรุปความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อการสอนของครู ความคิดของครูที่มีต่อการประเมินการสอนของตนเอง ความคิดเห็นของผู้บริหารหรือผู้ปกครอง
3.6 บรรยากาศการเรียนการสอน กิจกรรมที่ระบุในแบบการจัดเรียนรู้ กิจกรรมที่ต้องจัดในชั้นเรียนจริง ผลการตอบสนองของผู้เรียนที่มีผลต่อการสอนของครูแต่ละรายวิชา ความถี่ในการใช้สื่อและเทคโนโลยีกระตุ้นความสนใจผู้เรียนและสร้างความรู้แก่ผู้เรียน
3.7 การวัดและประเมินผลการเรียน
3.7.1 ความถูกต้องครบถ้วนเป็นปัจจุบันเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานการประเมินผลการเรียน
3.7.2 ความหลากหลายในวิธีการและการใช้เครื่องมือประเมิน จำนวนวิธีการประเมินที่ครูใช้จำนวนเครื่องมือประเมินที่ครูใช้ ความพึงพอใจของผู้เรียนต่อวิธีการวัดและประเมินผลการเรียน รายงานผลความก้าวหน้าของผู้เรียน
3.7.3 การมีส่วนร่วมในการวางแผนการวัดและประเมินผลการเรียน จำนวนทั้งที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมตัดสินใจกำหนดเกณฑ์การประเมิน
3.7.4 การนำผลการวัดและประเมินผลการเรียนไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียนการวิเคราะห์ผู้เรียนในรายบุคคลและรายกลุ่ม แนวทางที่ครูเลือกใช้ในการพัฒนาผู้เรียนรายบุคคลและรายกลุ่ม
                     3.8 การพัฒนากิจกรรมแนะแนว
                        3.8.1 สภาพการจัดบริการแนะแนว แผนการดำเนินงานกิจกรรมแนะแนว แนวการปฏิบัติในการดำเนินกิจกรรมแนะแนว ข้อมูลการจัดกลุ่มผู้เรียนตามความสามารถ ศักยภาพ ความสนใจ
                        3.8.2 ผลการจัดบริการแนะแนว สถิติการให้บริการแนะแนวแก่ผู้เรียนในแต่ละปี รายงานผลการจัดกิจกรรมแนะแนว
                     3.9 การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
                        3.9.1 การเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จำนวนกิจกรรมชมรมความหลากหลายของกิจกรรมที่จัด ความสนใจของผู้เรียน
                        3.9.2 ผลการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ผลสำเร็จการจัดกิจกรรมการพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมสถานศึกษา (แนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา 2544 กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ)
4.      สารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ
4.1 สภาพการบริหารและการจัดการ
      4.1.1 ความสอดคล้องระหว่างวิสัยทัศน์ ภารกิจและเป้าหมายการพัฒนาความคิดเห็น ความเข้าใจเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ภารกิจและเป้าหมายรายงานกระบวนการพัฒนาวิสัยทัศน์การกำหนดภารกิจและเป้าหมาย
                        4.1.2 ความสัมพันธ์ระหว่างแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษากับวิสัยทัศน์และภารกิจ ข้อความเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมายการพัฒนา แผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา รายงานผลความสำเร็จของการดำเนินการตามแผน
                        4.1.3 ภาวะผู้นำและการบริหาร ข้อมูลที่แสดงการเปิดโอกาสให้บุคลากรมีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูลและการตัดสินใจ ข้อมูลการแสดงการสับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ตามวาระ ความพึงพอใจในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการ
                        4.1.4 การจัดโครงสร้างองค์กร ข้อมูลการจัดบุคลากรตามหน้าที่ การยอมรับในหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย ความคิดเห็นเกี่ยวกับการแบ่งหน้าที่ของบุคลากรในสถานศึกษา
4.2   สภาพและบรรยากาศโดยเรียนรู้
4.2.1        การมาเรียนของนักเรียนในแต่ละภาค สถิติการมาเรียนแต่ละวันจำนวนเรียนในแต่ละ
ภาค
                        4.2.2 ความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการเรียนการสอนของโรงเรียน จำนวนผู้ปกครองที่แสดงความคิดเห็นทั้งหมด จำนวนผู้ปกครองที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความพึงพอใจการเรียนการสอนของโรงเรียน
                        4.2.3 การให้บริการด้านสุขภาพ อนามัย และความปลอดภัยในโรงเรียนให้แก้ผู้เรียน จำนวนผู้มารับบริการด้านสุขภาพอนามัย ความคิดเกี่ยวกับความปลอดภัยของโรงเรียน จำนวนผู้เรียนทั้งหมด จำแนกตามกลุ่มภาระโภชนาการ
                        4.2.4 สภาพการจัดแหล่งการเรียนรู้ (ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการการวิทยาศาสตร์) จำนวนแหล่งการเรียนรู้ ความหลากหลายของกิจกรรมที่จัดในแต่ละแหล่งเรียนรู้ความเพียงพอและความหลากหลายของวัสดุอุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในแต่ละแหล่งเรียนรู้ ความพึงพอใจในบริการ
                        4.2.5 การใช้เทคโนโลยีแต่ละประเภท จำนวนความต้องการที่ใช้ในการจัดการการใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ ความสะดวกรวดเร็วในการบริหารงาน
4.3   ทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวก
4.3.1 สัดส่วนของงบประมาณพัฒนาคุณภาพแต่ละระดับการศึกษา จำนวนงบประมาณแต่ละระดับ จำนวนงบประมาณทั้งหมดแต่ละปี
                        4.3.2 งบประมาณการศึกษาต่อคนต่อปีแต่ละระดับการศึกษา จำนวนงบประมาณแต่ละระดับต่อคนต่อปีการศึกษา จำนวนผู้เรียนแต่ละระดับ
                        4.3.3 ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จำนวนงบประมาณทั้งหมด ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแต่ละโครงการ
                        4.3.4 การใช้งบประมาณตามแผน จำนวนโครงการที่ใช้งบประมาณตามแผนจำนวนโครงการทั้งหมด
                        4.3.5 การบริหารงบประมาณ เทคนิคก็ใช้ในการบริหารงบประมาณความสมดุลของรายรับ-รายจ่าย ความคุ้มค่าจากการใช้งบประมาณ
4.4   การพัฒนาวิชาชีพ
4.4.1 ร้อยละของครูที่ทำวิจัยในชั้นเรียน จำนวนครูที่ทำวิจัยในชั้นเรียนจำนวนผลงานวิจัย
                        4.4.2 จุดเน้นการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนในรอบปี จำนวนชื่อโครงการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนในแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา จำนวนบุคลากรที่ได้รับการพัฒนา
                        4.4.3 ร้อยละของบุคลากรที่ได้รับการประชุมอบรม ลงศึกษาต่อในรอบปีจำนวนครูบุคลากรที่ได้รับการประชุมอบรม 1 การศึกษาต่อในรอบปี จำนวนครูบุคลากรทั้งหมด
                        4.4.4 ผลงาน เกียรติบัตร รางวัลที่ครู ผู้เรียนได้รับในรอบปี จำนวนผลงานเกียรติภารและรางวัลที่ครู ผู้สอนได้รับในรอบปี
                        4.4.5 ร้อยละของบุคลากรที่จัดทำแฟ้มพัฒนางาน จำนวนบุคลากรที่จัดทำแฟ้มพัฒนางาน จำนวนบุคลากรทั้งหมด
                        4.4.6 ร้อยละของจำนวนครูที่ได้รับการนิเทศแยกตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ จำนวนครูที่ได้รับการนิเทศแยกตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ จำนวนครูทั้งหมดของกลุ่มสาระการเรียนรู้
4.5   ความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครองและชุมชน
4.5.1 การเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม จำนวนโครงการของโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม
                        4.5.2 การรับการสนับสนุนตามการศึกษาจากหน่วยงานอื่น จำนวนครั้งที่ได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาจากหน่วยงานอื่น
                        4.5.3 การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน จำนวนครั้งที่โรงเรียนจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ในแต่ละภาคเรียน ปีการศึกษา จำนวนเอกสารในการเผยแพร่ข่าวสาร
ประชาสัมพันธ์ในแต่ละภาคเรียน ปีการศึกษา (เอกสารประกอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 “แนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษากรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ)

            การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ที่ข้อควรคำนึง 2 ประการคือ
                     1. หลักสูตรสถานศึกษาต้องเชื่อมโยงกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 ซึ่งเป็นกรอบสำคัญของการจัดการศึกษาสำหรับสถานศึกษาทั่วประเทศ ส่วนสำคัญที่ต้องยึดถือมาตรฐานการเรียนรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ และมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวเป็นคุณภาพที่เกิดกับผู้เรียนทั่วประเทศ หลังจากที่จบจากการศึกษาแต่ละช่วงชั้นหรือจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                     2. หลักสูตรสถานศึกษาจะต้องพัฒนาผู้เรียนให้เต็มศักยภาพ ซึ่งจะเป็นส่วนที่เพิ่มเติมจากข้อ 1 หลักสูตรจะต้องตอบสนองต่อความถนัด ความสนใจ และความต้องการของผู้เรียน ความแตกต่างของแต่ละบุคคลเป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาถึงขีดสูงสุด
                     สถานศึกษาสามารถออกแบบหลักสูตรของตนเองได้อย่างอิสระ โดยยึดนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลักวิชาการที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา มีความถูกต้องเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ชุมชนและท้องถิ่นและมีความเป็นไปได้

แนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
            เมื่อเตรียมความพร้อมทุก ๆ ด้านแล้ว จึงจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา แนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา มีดังนี้
1.      การกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมาย
สถานศึกษาจำเป็นต้องกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อมองอนาคตว่า โลกและสังคมรอบ ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และสถานศึกษาจะต้องปรับตัว ปรับหลักสูตรอย่างไร จึงจะพัฒนาผู้เรียนให้เหมาะสมกับยุคสมัย ในการสร้างหลักสูตรสถานศึกษา สถานศึกษาต้องมีวิสัยทัศน์ ซึ่งทำได้โดยอาศัยความร่วมมือของชุมชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ผู้เรียน ภาคธุรกิจ ภาครัฐในชุมชน ร่วมกันกับคณะกรรมการสถานศึกษาแสดงความประสงค์อันสูงส่งหรือวิสัยทัศน์ที่ปรารถนาให้สถานศึกษาเป็นสถาบันพัฒนาผู้เรียนที่มีพันธกิจหรือภาระหน้าที่ร่วมกันในการกำหนดงานหลักที่สำคัญ ๆ ของสถานศึกษาพร้อมด้วยเป้าหมาย แผนปฏิบัติการและการติดตามผล ตลอดจนจัดทำรายงาน แจ้งสาธารณชน และส่งผลย้อนกลับให้สถานศึกษา เพื่อการปฏิบัติงานที่เหมาะสมตามหลักสูตรของสถานศึกษา และจุดหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติที่กำหนดไว้
กระบวนการสร้างวิสัยทัศน์ โดยอาศัยบุคคลต่าง ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมนี้ เป็นกระบวนการที่มีพลังผลักดันให้แผนกลยุทธ์ที่สถานศึกษาสร้างขึ้นดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีทิศทางก่อให้เกิดเจตคติในทางที่สร้างสรรค์ดีงานแก่สังคมของสถานศึกษา มีระบบและหน่วยสนับสนุนในการปฏิบัติงานเกิดขึ้นอย่างเป็นเครือข่าย เพียบพร้อม เช่น ระบบคุณภาพระบบหลักสูตร สาระการเรียนรู้ การเรียนการสอน สื่อการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล การติดตาม การรายงานฐานข้อมูลการเรียนรู้ การวิจัยแบบมีส่วนร่วม มีระบบสนับสนุนครูอาจารย์ เป็นต้น กระบวนการสร้างวิสัยทัศน์ด้วยวิธี ดังกล่าวนี้จะนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตร การกำหนดสาระการเรียนรู้หรือหัวข้อเรื่องในท้องถิ่นสนองตอบความต้องการของชุมชน
                        วิสัยทัศน์
                        - เป็นเจตนารมณ์ อุดมการณ์ หลักการ ความเชื่อ อนาคตที่พึงประสงค์ เป็นการคิดไปข้างหน้า มีเอกลักษณ์
                        - สามารถสร้างศรัทธา และจุดประกายความคิดในสภาพการพัฒนาสูงสุด
                        ภารกิจ
                        แสดงวิธีดำเนินการของสถานศึกษาเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์และนำไปสู่การวางแผนปฏิบัติต่อไป
                        เป้าหมาย
                        กำหนดเป็นความคาดหวังด้านคุณภาพที่เกิดกับผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่สถานศึกษากำหนดและสอดคล้องกับจุดหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                        นอกจากนั้น สถานศึกษาต้องร่วมกับชุมชน กำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนด้านคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม
                        คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่สถานศึกษาจะกำหนดเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ นั้น สามารถกำหนดขึ้นได้ตามความต้องการ โดยให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความจำเป็นที่จะต้องมีการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมดังกล่าว ให้แก่ผู้เรียน เพิ่มจากที่กำหนดไว้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ
                        ในแต่ละภาคเรียนหรือปีการศึกษา ครูผู้สอนต้องจัดให้มีการวัดและประเมินผลด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน โดยเป็นการประเมินเชิงวินิจฉัยเพื่อปรับปรุงพัฒนาและการส่งต่อ ทั้งนี้ ควรประสานสัมพันธ์กับผู้เรียน ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องร่วมกันประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์รายปี หรือรายภาค
2.      การจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา
จากวิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมาย ที่สถานศึกษาได้กำหนดไว้ สถานศึกษาจะต้องจัดทำโครงสร้างหลักสูตร ซึ่งกำหนดสาระการเรียนรู้ และเวลาเรียนไว้อย่างชัดเจน เพื่อสถานศึกษาจะนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนด
โครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา ประกอบด้วย
·       สาระการเรียนรู้ / ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายวิชา หน่วยการเรียนรู้ ครบ 8 กลุ่มสาระ รายภาคหรือปี ทั้งที่กำหนดไว้ในหลักสูตรและเพิ่มเติมตามความถนัด ความสนใจ ความต้องการของผู้เรียน ชุมชน และท้องถิ่น
·       มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทุกภาคเรียน
·       กำหนดเวลาแต่ละกลุ่มสาระ หน่วยการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนรายภาคหรือปี
3.      การจัดทำสาระของหลักสูตร
1) กำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค โดยวิเคราะห์จากมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นที่กำหนดไว้ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ มาจัดเป็นผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค ที่ระบุถึงความรู้ ความสามารถของผู้เรียน และคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากการเรียนรู้ในแต่ละปีหรือภาคนั้น
การกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาคของสาระการเรียนรู้ให้สถานศึกษากำหนดเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม สอดคล้องกับความสามารถ ความถนัด ความสนใจ และสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน
2) กำหนดสาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาค โดยวิเคราะห็จากผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาคที่กำหนดไว้ในข้อ 1) และให้สอดคล้องกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น รวมทั้งสอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่นและชุมชน
3) กำหนดเวลาและจำนวนหน่วยกิต สำหรับสาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาค ดังนี้
- ช่วงชั้น ป.1-3.4-6 และ ม.1-3 กำหนดสาระการเรียนรู้เป็นรายปี และกำหนดจำนวนคาบเวลาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและสาระการเรียนรู้นั้น
- ช่วงชั้น ม.4-6 กำหนดสาระการเรียนรู้เป็นรายภาค และกำหนดจำนวนหน่วยกิตให้เหมาะสม สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและสาระการเรียนรู้
ในการกำหนดจำนวนหน่วยกิตของสาระการเรียนรู้รายภาคสำหรับช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ให้เกณฑ์การพิจารณาที่ใช้เวลาจัดการเรียนรู้ 40 ชั่วโมงต่อภาคเรียน มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต
สำหรับสาระการเรียนรู้ที่สถานศึกษาจัดทำเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นวิชาเฉพาะของสายอาชีพ หรือโปรแกรมเฉพาะทางอื่น ๆ ใช้เกณฑ์การพิจารณา คือ สาระการเรียนรู้ที่ใช้เวลาจัดการเรียนรู้ระหว่าง 40-60 ชั่วโมงต่อภาคเรียน มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตทั้งนี้สถานศึกษากำหนดได้ตามความเหมาะสมและใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน
4) จัดทำคำอธิบายรายวิชา โดยการนำเอาผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค สาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาค รวมทั้งเวลาและจำนวนหน่วยกิตที่กำหนด ตามข้อ 1) 2) และ 3) มาเขียนเป็นคำอธิบายรายวิชา โดยให้ประกอบด้วยชื่อรายวิชา จำนวนเวลาหรือจำนวนหน่วยกิต ผลการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้ของรายวิชานั้น ๆ ซึ่งสามารถเขียนคำอธิบายรายวิชาได้หลายรูปแบบ เช่น
รูปแบบที่ 1 เขียนเป็นความเรียงเสนอภาพรวมของผลการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้าน
รูปแบบที่ 2 เขียนแยกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
-          ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง : เขียนเป็นความเรียง สรุปภาพรวมของผลการเรียนทั้ง 3 ด้าน
-          สาระการเรียนรู้ : เขียนเป็นความเรียงของขอบข่ายเนื้อหา
รูปแบบที่ 3 เขียนเป็นความเรียง ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
-          ขอบข่ายกิจกรรมที่กำหนดกว้าง ๆ สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ของรายวิชา
-          ขอบข่ายเนื้อหาที่สอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ของรายวิชา
-          ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียนอย่างกว้าง ๆ
รูปแบบที่ 4 เขียนเป็นความเรียง ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
-          จุดประสงค์ของรายวิชาที่สอดคล้องกับผลการเรียนรู้รายวิชา
-          ขอบข่ายสาระการเรียนรู้
-          กิจกรรมการเรียนรู้
-          วิธีการวัดและประเมินผล
รูปแบบที่ 5 เขียนแยกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
-          ผลการเรียนรู้ : เขียนให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน เป็นข้อ ๆ โดยไม่แยกด้าน

สำหรับคำอธิบายรายวิชามีแนวทางการกำหนดดังนี้ ชื่อรายวิชาของสาระการเรียนรู้ ให้ใช้ตามชื่อกลุ่มสาระการเรียนรู้ ส่วนชื่อรายวิชาที่สถานศึกษาจัดทำเพิ่มเติมสามารถกำหนดตามความเหมาะสม ทั้งนี้ต้องสื่อความหมายได้ชัดเจน มีความสอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในรายวิชานั้น ๆ
5) จัดทำหน่วยการเรียนรู้ โดยการนำเอาสาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาคที่กำหนดไว้ไปบูรณาการจัดทำเป็นหน่วยการเรียนรู้ย่อย ๆ เพื่อความสะดวกในการจัดการเรียนรู้และผู้เรียนได้เรียนรู้ในลักษณะองค์รวม หน่วยการเรียนรู้ แต่ละหน่วยประกอบด้วย ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง สาระการเรียนรู้ และจำนวนเวลาสำหรับการจัดการเรียนรู้ ซึ่งเมื่อเรียนครบทุกหน่วยย่อยแล้ว ผู้เรียนสามารถบรรลุตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาคของทุกวิชา
ในการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ อาจบูรณาการทั้งภายในและระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือเป็นการบูรณาการเฉพาะเรื่องตามลักษณะสาระการเรียนรู้ หรือเป็นการบูรณาการที่สอดคล้องกับวิถีชีวติของผู้เรียน โดยพิจารณาจากมาตรฐานการเรียนรู้ที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับการจัดการเรียนรู้สำหรับหน่วยการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้นสถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติโครงงานอย่างน้อย 1 โครงงาน
6) จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ โดยวิเคราะห์จากคำอธิบายรายวิชา รายปี หรือรายภาค แต่ละหน่วยการเรียนรู้ที่จัดทำ กำหนดเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียนและผู้สอน
4.      การออกแบบการเรียนรู้
4.1  การจัดการเรียนการสอน
การเรียนรู้ในสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ มีกระบวนการและวิธีการที่หลากหลาย ผู้สอนต้องคำนึงถึงพัฒนาการทางด้านร่างกาย และสติปัญญา วิธีการเรียนรู้ ความสนใจ และความสามารถของผู้เรียนเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น ควรใช้รูปแบบ / วิธีการที่หลากหลาย เน้นการจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริง การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนรู้จากธรรมชาติ การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และการเรียนแบบบูรณาการ การใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ การเรียนรู้คู่คุณธรรม ทั้งนี้ ต้องพยายามนำกระบวนการการจัดการกระบวนการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม กระบวนการคิดและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปสอดแทรกในการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ เนื้อหาและกระบวนการต่าง ๆ ข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะองค์รวม การบูรณาการเป็นการกำหนดเป้าหมายการเรียนร่วมกัน ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยนำกระบวนการเรียนรู้จากกลุ่มสาระเดียวกัน หรือต่างกลุ่มสาระการเรียนรู้มาบูรณาการในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งจัดได้หลายลักษณะ เช่น
                        1. การบูรณาการแบบผู้สอนคนเดียว ผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้โดยเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ กับหัวข้อเรื่องที่สอดคล้องกับชีวิตจริงหรือสาระที่กำหนดขึ้นมา เช่น เรื่อง สิ่งแวดล้อม น้ำ เป็นต้น ผู้สอนสามารถเชื่อมโยงสาระ และกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มสาระต่าง ๆ เช่น การอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ การคิดวิเคราะห์ต่าง ๆ ทำให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะและกระบวนการเรียนรู้ไปแสวงหาความรู้ความจริงจากหัวข้อเรื่องที่กำหนด
                        2. การบูรณาการแบบคู่ขนาด มีผู้สอนตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันจัดการเรียนการสอนโดยอาจยึดหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วบูรณาการเชื่อมโยงแบบคู่ขนาน เช่น ผู้สอนคนหนึ่งสอนวิทยาศาสตร์ เรื่องเงา ผู้สอนอีกคนอาจสอนคณิตศาสตร์ เรื่องการวัดระยะทาง โดยการวัดเงา คิดคำนวณในเรื่องเงาในช่วงเวลาต่าง ๆ จัดทำกราฟของเงาในระยะต่าง ๆ หรืออีกคนหนึ่งอาจให้ผู้เรียนรู้ศิลปะเรื่องเทคนิคการวาดรูปที่มีเงา
                        3. การบูรณาการแบบสหวิทยาการ การบูรณาการในลักษณะนี้นำเนื้อหาจากหลายกลุ่มสาระมาเชื่องโยงเพื่อจัดการเรียนรู้ ซึ่งโดยทั่วไปผู้สอนมักจัดการเรียนการสอนแยกตามรายวิชาหรือกลุ่มวิชา แต่ในบางเรื่อง ผู้สอนจัดการเรียนการสอนร่วมกันในเรื่องเดียวกัน เช่น เรื่องวันสิ่งแวดล้อมของชาติ ผู้สอนภาษาไทยจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนรู้ภาษา คำศัพท์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผู้สอนวิทยาศาสตร์จัดกิจกรรมค้นคว้าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผู้สอนสังคมศึกษาให้ผู้เรียนค้นคว้าหรือทำกิจกรรมชมรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และครู ผู้สอนสุขศึกษาอาจจัดให้จัดทำกิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น
                        4. การบูรณาการแบบโครงการ ผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนโดยบูรณาการเป็นโครงการ โดยผู้เรียนและครูผู้สอนร่วมกันสร้างสรรค์โครงการขึ้น โดยใช้เวลาการเรียนต่อเนื่องกันได้หลายชั่วโมง ด้วยการนำเอาจำนวนชั่วโมงของวิชาต่าง ๆ ที่ครู ผู้สอนเคยสอนแยกกันนั้นมาร่วมเป็นเรื่องเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน ในลักษณะของการสอนเป็นทีม เรียนเป็นทีมในกรณีที่ต้องการเน้นทักษะบางเรื่องเป็นพิเศษ ครู ผู้สอนสามารถแยกกันสอนได้ เช่น กิจกรรมเข้าค่ายดนตรี กิจกรรมเข้าค่ายภาษาอังกฤษ กิจกรรมเข้าค่ายศิลปะ เป็นต้น
4.2  สื่อการเรียนรู้
การจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรสถานศึกษามุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียน เรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งมีความยืดหยุ่น สนองความต้องการของผู้เรียน ชุมชนสังคมและประเทศชาติ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่และเรียนรู้ได้จากสื่อการเรียนรู้ และแหล่งการเรียนรู้ทุกประเภท รวมทั้งจากเครือข่ายการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ชุมชน และแหล่งอื่น ๆ เน้นสื่อที่ผู้เรียน และผู้สอนใช้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียน ผู้สอนสามารถจัดทำและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ขึ้นเอง หรือนำสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว และในระบบสารสนเทศมาใช้ในการเรียนรู้ โดยใช้วิจารณญาณในการเลือกใช้สื่อ และแหล่งความรู้ โดยเฉพาะหนังสือเรียน ควรมีเนื้อหาสาระครอบคลุมตลอดช่วงชั้นสื่อ สิ่งพิมพ์ควรจัดให้มีอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ควรให้ผู้เรียนสามารถยืมได้จากศูนย์สื่อ หรือห้องสมุดของสถานศึกษา
4.3  การวัดผลและประเมินผล
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ให้ผู้สอนใช้พัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพราะจะช่วยให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่แสดงพัฒนาการ ความก้าวหน้า และความสำเร็จทางการเรียนของผู้เรียน รวมทั้ง ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาและเรียนรู้อย่างเต็มตามศักยภาพ
สถานศึกษาในฐานะผู้รับผิดชอบจัดการศึกษา จะต้องจัดทำ หลักเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติในการวัดและประเมินผลการเรียนของสถานศึกษา เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถือปฏิบัติร่วมกัน และเป็นไปในมาตรฐานเดียวกันสถานศึกษาต้องมีผลการเรียนรู้ของผู้เรียนจากการวัดและประเมิน ทั้งในระดับชั้นเรียนระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับชาติ ตลอดจนการประเมินภายนอก เพื่อใช้เป็นข้อมูลสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับคุณภาพของผู้เรียนแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและนอกสถานศึกษา
            การวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียน มีจุดหมายสำคัญของการประเมินระดับชั้นเรียน คือ มุ่งหาคำตอบว่าผู้เรียนมีความก้าวหน้าทั้งด้านความรู้ ทักษะกระบวนการคุณธรรม และค่านิยมอันพึงประสงค์ อันเป็นผลเนื่องจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้หรือไม่ / เพียงใด ดังนั้น การวัด และประเมิน จึงต้องใช้วิธีการที่หลากหลายเน้นการปฏิบัติให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสาระการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ และสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปในกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยประเมินความประพฤติพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรม และผลงานจากโครงงานหรือแฟ้มสะสมงาน ผู้ใช้ ผลการประเมินในระดับชั้นเรียนที่สำคัญ คือ ตัวผู้เรียน ผู้สอนและพ่อแม่ ผู้ปกครอง จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย วิธีการ และค้นหาข้อมูลเกณฑ์ต่าง ๆ ที่จะทำให้สะท้อนให้เห็นภาพสัมฤทธิ์ผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้เรียนจะทราบระดับความก้าวหน้าความสำเร็จของตน ครูผู้สอน จะเข้าใจความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน แต่ละกลุ่มสามารถให้ระดับคะแนนหรือจัดกลุ่มผู้เรียน รวมทั้งประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของตนเองได้ ขณะที่พ่อแม่ ผู้ปกครองจะได้ทราบระดับความสำเร็จของผู้เรียน
            สถานศึกษาเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษา
            การประเมินผลระดับสถานศึกษา เป็นการประเมินเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้เป็นรายชั้นปี และช่วงชั้นสถานศึกษานำข้อมูลที่ได้นี้ไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนและคุณภาพของผู้เรียนให้เป็นไปตามมาตรฐานการเรียนรู้ รวมทั้งนำผลการประเมินรายช่วงชั้นไปพิจารณาตัดสินการเลื่อนช่วงชั้น กรณีผู้เรียนไม่ผ่านมาตรฐานการเรียนรู้ของกลุ่มสาระต่าง ๆ สถานศึกษาต้องจัดให้มีการเรียน การสอนซ่อมเสริม และจัดให้มีการประเมินผลการเรียนรู้ด้วย

5. การออกแบบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
            หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดให้มีสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนเองตามศักยภาพ มุ่งเน้นเพิ่มเติมจากกิจกรรมที่ได้จัดให้เรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ทั้ง 8 กลุ่ม การเข้าร่วมและปฏิบัติกิจกรรมที่เหมาะสมร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขกับกิจกรรมที่เลือกด้วยตนเองตามความถนัด และความสนใจอย่างแท้จริง การพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ให้ครบทุกด้านทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม โดยอาจจัดเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสนองนโยบายในการสร้างเยาวชนของชาติให้เป็นผู้มีศีลธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัย และมีคุณภาพเพื่อพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งสถานศึกษาจะต้องดำเนินการอย่างมีเป้าหมาย มีรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
            กิจกรรมแนะแนว เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของผู้เรียนให้เหมาะสมตามความแตกต่างระหว่างบุคคล สามารถค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตน เสริมสร้างทักษะชีวิต วุฒิภาวะทางอารมณ์ การเรียนรู้ในเชิงพหุปัญญา และการสร้างสัมพันธภาพที่ดี ซึ่งผู้สอนทุกคนต้องทำหน้าที่แนะแนวให้คำปรึกษาด้านชีวิตการศึกษาต่อและการพัฒนาตนเองสู่โลกอาชีพและการมีงานทำ
            กิจกรรมนักเรียน เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความสมัครใจของผู้เรียนมุ่งพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์เพิ่มเติมจากกิจกรรมในกลุ่มสาระ เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ปัญหา ส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียนอย่างเต็มที่ รวมถึงกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝังความมีระเบียบวินัย รับผิดชอบ รู้สิทธิและหน้าที่ของตนเอง แบ่งตามความแตกต่างระหว่างกิจกรรมได้เป็น 2 ลักษณะ
            1. กิจกรรมพัฒนาความถนัด ความสนใจ ตามความต้องการของผู้เรียนเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการเติมเต็มความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ของผู้เรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อการค้นพบความถนัดความสนใจของตนเอง และพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ ตลอดจนการพัฒนาทักษะของสังคม และปลูกฝังจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม
            2. กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด และผู้บำเพ็ญประโยชน์ เป็นกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝัง ระเบียบวินัย กฎเกณฑ์ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสภาพชีวิตต่าง ๆ นำไปสู่พื้นฐานการทำประโยชน์ให้แก่สังคม และวิถีชีวิตในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งกระบวนการจัดให้เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ ยุวกาชาด สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์และกรมการรักษาดินแดน
            การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โรงเรียนอาจจัดทำได้หลายรูปแบบ เช่น
            1. จัดแบ่งสัดส่วนเวลาของกิจกรรมต่าง ๆ แล้วกำหนดเวลาเรียนในตารางเวลาเรียน เช่นเดียวกันกับกลุ่มสาระอีก 8 กลุ่มสาระ
            2. จัดแบ่งสัดส่วนเวลาของกิจกรรมต่าง ๆ แล้วกำหนดเวลาเรียนบางส่วนในตารางเวลาเรียนปกติ และบางส่วนเรียนนอกเวลา
            3. จัดกิจกรรมต่าง ๆ ไปด้วยกัน โดยวางแผนร่วมกันของกลุ่มอาจารย์ที่ปรึกษากิจกรรม กำหนดเวลาเรียนบางส่วนในตารางเวลาเรียนปกติ บางส่วนเรียนนอกเวลา ฯลฯ
            สถานศึกษา ต้องจัดให้ผู้เรียนทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมให้เหมาะสมกับวัยวุฒิภาวะและความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน

6. กำหนดรูปแบบ วิธีการ เกณฑ์การตัดสิน เอกสารหลักฐานการศึกษา
            เกณฑ์การผ่านช่วงชั้นและการจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
            การจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 12 ปี ผู้เรียนสามารถจบการศึกษาได้ 2 ช่วง คือ จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ถือว่า จบการศึกษาภาคบังคับ และจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งถือว่า จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
            ผู้เรียนผ่านการศึกษาแต่ละช่วงชั้น ตามเกณฑ์ ดังนี้
            เกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นที่ 1,2 และ 3 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 (จบการศึกษาภาคบังคับ)
            1. ผู้เรียนต้องเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม และได้รับการตัดสินผลการเรียนให้ได้ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
            2. ผู้เรียนต้องผ่านการประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ เขียน ให้ได้ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
            3. ผู้เรียนต้องผ่านการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
            4. ผู้เรียนต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
            เกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 (จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน)
            1. ผู้เรียนต้องเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม และได้หน่วยกิตครบตามหลักสูตรที่สถานศึกษากำหนด และได้รับการตัดสินผลการเรียนให้ได้ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
            2. ผู้เรียนต้องผ่านการประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ เขียน ให้ได้ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
            3. ผู้เรียนต้องผ่านการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
            4. ผู้เรียนต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด

            เอกสารหลักฐานการศึกษา
            สถานศึกษาต้องพิจารณาจัดทำเอกสารการประเมินผลการเรียนเพื่อใช้ประกอบการดำเนินงานด้านการวัดและประเมินผลการเรียนตามที่เห็นสมควร เช่น เอกสารแสดงผลการเรียนรู้ของผู้เรียน แบบบันทึกผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในรายวิชาต่าง ๆ แบบรายงานการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นรายบุคคล ระเบียนสะสมแสดงพัฒนาการด้านต่าง ๆ และแบบแสดงผลการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เป็นต้น

7. พัฒนาระบบการส่งเสริมสนับสนุน
            ในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพตามจุดหมายของหลักสูตร สถานศึกษาควรพัฒนาระบบการส่งเสริม สนับสนุนต่าง ๆ ที่จะเอื้อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพในเรื่องต่อไปนี้ คือ
1.      การพัฒนากระบวนการแนะแนว
สถานศึกษาต้องพัฒนาระบบแนะแนวที่มุ่งการพัฒนาคนให้มีความรู้อย่างลึกซึ้ง  ประเมินการจัดการที่มีคุณภาพ โดยกำหนดพันธกิจระหว่างบ้าน ชุมชน และสถานศึกษาที่เน้นความร่วมมือกันระหว่างบ้าน ในฐานะแหล่งเรียนรู้แรกของผู้เรียน ชุมชนจะเป็นเครือข่ายที่สำคัญของการแนะแนว ช่วยป้องกัน แก้ไข ปัญหาของสังคม สร้างเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยข้อมูลสารสนเทศ และพัฒนาเครือข่ายแนะแนวให้เข้มแข็ง เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพสูงสุด ทั้งด้านวิชาการ ด้านบุคลากร และด้านบริหารทั่วไป
2.      การพัฒนาแหล่งการเรียนรู้และห้องสมุด
สถานศึกษาจำเป็นต้อง ส่งเสริม สนับสนุนให้มีแหล่งเรียนรู้ นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียนให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้า เพิ่มพูน ประสบการณ์และความชำนาญโดยเฉพาะห้องสมุดนั้น  เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญยิ่ง เพราะจะเป็นแหล่งที่รวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนโดยตรง ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องสมุดที่มีความหรูหราหรือใหญ่โต อาจเป็นเพียงมุมหนังสือ เพื่อการศึกษาค้นคว้าก็ใช้ได้ นอกจากนี้ต้องสนับสนุนให้มีแหล่งการเรียนรู้ในรูปของคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีต่าง ๆ
3.      การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพ
สถานศึกษาต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สอนนำกระบวนการวิจัยมาผสมผสานหรือบูรณาการใช้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน และเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ สามารถใช้กระบวนการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ผลการวิจัยจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้เป็นอย่างดีทั้งนี้ เน้นการวิจัยทั้งในห้องเรียน และการวิจัยในภาพรวมของสถานศึกษา
4.      เครือข่ายวิชาการ
สถานศึกษาต้องพัฒนา และส่งเสริม สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ ทางวิชาการ จากครูในสถานศึกษาเดียวกัน และในสถานศึกษาอื่น ๆ ตลอดจนชมรมวิชาการต่าง ๆ ในรูปของเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั้งจากบุคคลต่าง ๆ และจากสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ครูมีความรู้ และแนวคิดใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ

8. การเรียบเรียงเป็นหลักสูตรสถานศึกษา
            จากกระบวนการดังกล่าวข้างต้น สถานศึกษาจะมีรายละเอียดที่ครอบคลุมภาระงานการจัดการศึกษาทุกด้าน ในขั้นนี้ จึงเป็นการวิเคราะห์และเรียบเรียง เพื่อให้เป็นหลักสูตรสถานศึกษาที่สมบูรณ์
            ในการกำหนดหลักสูตรสถานศึกษา ควรคำนึงว่าสิ่งที่ปรากฎในหลักสูตรเป็นสิ่งที่สถานศึกษาจะต้องดำเนินการ ตั้งแต่ต้น คือ การกำหนดวิสัยทัศน์ จนกระทั่งการนำหลักสูตรสู่ห้องเรียน คือ การจัดทำแผนการเรียนรู้ รวมทั้งการบริหารจัดการหลักสูตรให้ประสบความสำเร็จ ใช้ศักยภาพทั้งของสถานศึกษาและชุมชนเต็มที่ เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง ประการสำคัญ หลักสูตรสถานศึกษาจะต้องสามารถบอกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและบุคคลในชุมชนทราบอย่างชัดเจนว่า จะจัดการศึกษาอย่างไรในสถานศึกษาดังนั้น เอกสารหลักสูตรสถานศึกษาอาจมีหลายเล่ม ซึ่งในเล่มแรกควรเป็นเล่มที่กำหนดภาพรวม และมีเล่มอื่น ๆ อีก ตามความเหมาะสม ซึ่งอาจแยกเล่มตามกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือหน่วยการเรียนรู้
            การเรียบเรียง เป็นหลักสูตรสถานศึกษา ควรประกอบด้วย ส่วนสำคัญดังต่อไปนี้
1)      วิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมาย
2)      คุณลักษณะอันพึงประสงค์
3)      โครงสร้างหลักสูตร
4)      รายวิชาตามกลุ่มสาระการเรียนรู้
5)      กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
6)      การจัดการเรียนรู้และการส่งเสริมการเรียนรู้
7)      การวัดและประเมินผล
8)      การบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา
9)      อื่น ๆ
ทั้งนี้ สถานศึกษาอาจกำหนดหัวข้อเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
เมื่อสถานศึกษาจัดทำร่างหลักสูตรสถานศึกษาตามหัวข้อดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว สถานศึกษาจะต้องตรวจสอบแต่ละหัวข้า เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 รวมทั้ง สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบท / สภาพของสถานศึกษา จากนั้น นำร่างหลักสูตรดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ความเห็นชอบ

เอกสารอ้างอิง

คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน, สำนักนายกรัฐมนตรี. พระราชบัญญัติการศึกษา

                        แห่งชาติ พ.. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) .. 2545 .กรุงเทพฯ:
                        พริกหวานกราฟฟิค จำกัด

วิชาการ, กรม. กระทรวงศึกษาธิการ. แนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา เอกสารประกอบ

                        ชุดฝึกอบรม ชุดที่ 1 การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา สำเนาเผยแพร่โดย หน่วย
                        ศึกษานิเทศก์ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร

ศึกษาธิการ, กระทรวง. (2545) หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.. 2544. กรุงเทพมหานคร :
                        โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น