วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

วิชา หลักการสอน

ความหมายของคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน

            มีคำที่สำคัญที่จะต้องเข้าใจความหมายอย่างกระจ่างชัดเจน คือ คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนดังนี้
            การเรียนหรือการเรียนรู้  การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียน ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้จากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่พบเห็นกับความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เดิม (พิมพันธ์  เดชะคุปต์, 2542) ในแดนวคิดดังกล่าวนี้ ออซูเบล (Ausubel,1993)ได้อธิบายว่า การเรียนรู้อย่างมีความหมาย (Meaningful Verbal Learning) จะเกิดขึ้นได้หากการเรียนรู้นั้นสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีมาก่อน นอกจากนั้น (Bruner, 1965) ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็กว่า เด็กเริ่มต้นการเรียนรู้จากการกระทำ (Enactive Stage) ต่อไปจึงจะสามารถสร้างจิตนาการหรือสร้างภาพในใจหรือในความคิดขึ้นได้ (Symbolic Stage) ส่วนกาเย่ (Gagne,1965) ได้อธิบายเกี่ยวกับผลของการเรียนรู้ของมนุษย์ว่ามี 5 ประเภท คือ
1.      ทักษะทางปัญญา (Intellectual Skills) ซึ่งประกอบด้วยทักษะย่อย 4 ระดับ คือ การจำแนกการสร้างความคิดรวบยอด การสร้างกฎ และการสร้างกระบวนการหรือกฎขั้นสูง
2.      กลวิธีในการเรียนรู้ ( Cognitive Strategies) ประกอบด้วยกลวิธีการใส่ใจ การรับและทำความเข้าใจข้อมูล การดึงความรู้จากความทรงจำ การแก้ปัญหา และกลวิธีการคิด
3.      ทักษะทางภาษา (Verbal Information)
4.      ทักษะการเคลื่อนไหว (Motor Skills)
5.      เจตคติ (Attiude)
การสอน หมายถึง กระบวนการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ไปสู้ผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายการเรียนรู้
ระบบการสอน หมายถึง การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการจัดการเรียนการสอนอย่างมีขั้นตอน มีระบบระเบียบที่จะทำให้การสอนนั้นบรรลุจุดมุ่งหมายการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยุทธศาสตร์การสอน หมายถึง ยุทธวิธีในการที่จะคิดให้ได้หลักการเรียนการสอน กระบวนการ วิธีการและเทคนิคที่นำมาปฏิบัติเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของการสอน
หลักการสอน หมายถึง ความเชื่อ ปรัชญา ทฤษฎี หลักการเกี่ยวกับการสอน ซึ่งอาจนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการวางรูปแบบ กระบวนการ และวิธีการสอน
รูปแบบการจัดการเรียนการสอน หมายถึง สภาพหรือลักษณะของการเรียนการสอนที่จัดขึ้นตามปรัชญา ทฤษฎี หลักการ แนวความคิด และหรือความเชื่อต่างๆ โดยอาศัยวิธีการสอน และเทคนิคการสอนต่างๆ เข้ามาช่วยให้สภาพการจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามหลักการที่ยึดถือ
วิธีการสอน หมายถึง วิธีการต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อช่วยให้การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ บรรลุเป้าหมาย วิธีการสอนแต่ละวิธีย่อมประกอบไปด้วยลักษณะอันเป็นจุดเด่นเฉพาะของวิธีการนั้นๆ และกระบวนการอันเป็นหลักในการดำเนินการตามวิธีการนั้น
เทคนิคการสอน หมายถึง กลเม็ดต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อช่วยให้วิธีการหรือกระบวนการใดๆ ในการจัดการเรียนการสอนบรรลุตามจุดมุ่งหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ (วัฒนาพร , 2532)

ความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนกับการสอน

            จากความหมายของคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนดังกล่าวข้างต้น จะให้ได้ว่า การเรียนกับการสอนเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์เดียวกัน คือ การสอนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การสอนเกิดขึ้นจากตัวผู้สอนหรือครู แต่การเรียนรู้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน เป็นสิ่งที่ควบคู่กันไป (หมายรวมเฉพาะการเรียนรู้ที่ตั้งไว้ให้เกิดขึ้น มีการกำหนดจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ไว้ล่วงหน้า)

รูปแบบการจัดกระบวนการการเรียนการสอน

            ในการจัดกระบวนการเรียนการสอน มีจุดมุ่งหมายหลักคือ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ บรรลุจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ตามที่ได้กำหนดไว้ (รายละเอียดเรื่องจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ได้เสนอไว้ในหัวข้อของแผนการสอน) โดยมุ่งหวังในภาพรวมที่จะให้ผู้เรียนเมื่อเกิดการเรียนรู้แล้ว จะมีคุณลักษณะที่สำคัญ 3  ประการ คือ เป็นคนเก่ง เป็นคนดี และเป็นคนที่มีความสุข ซึ่งในการที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ดังกล่าวนั้น การจัดกระบวนการเรียนการสอนจะต้องมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
            1. เป็นกระบวนการทางปัญญา พัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
2. ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข เน้นประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ
3. บูรณาการสาระการเรียนรู้ที่สอดคล้อง
4. เป็นกระบวนการคิด การปฏิบัติจริง นำไปใช้ประโยชน์ได้
5. เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันโดยมีผู้เรียน ผู้สอนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและจัดบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้

ลักษณะกระบวนการเรียนการสอนที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่พึงประสงค์

·       เป็นกระบวนการทางปัญญา พัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

·       เรียนรู้อย่างมีความสุข เน้นประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ

·       บูรณาการสาระการเรียนรู้ สอดคล้องกับความสนใจ ทันสมัยตามสภาพจริง
·       เป็นกระบวนการคิด การปฏิบัติจริง นำไปใช้ประโยชน์ได้
·       เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีผู้เรียน ครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และจัดบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้

หลักการจัดกระบวนการเรียนการสอน

            ในการที่จะจัดกระบวนการเรียนการสอนให้มีลักษณะที่ต้องการดังกล่าว มีหลักการที่พัฒนา มาจากหลักการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ ดังนี้
            หลักการเรียนรู้

            หลักการเรียนรู้มีพื้นฐานมาจากแนวความคิดสำคัญดังนี้

            1. การเรียนรู้เป็นกระบวนการสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวผู้เรียนเอง โดยมีครูหรือผู้สอนเป็นผู้ช่วยจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เอื้ออำนวยให้เกิดการสร้างองค์ความรู้
            2. สังคมการเรียนรู้เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง และระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน
            3. อาศัยการแสดงออกทางภาษา ได้แก่ การพูดและการเขียน เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้

จากแนวความคิดสำคัญดังกล่าว ได้นำมากำหนดหลักการเรียนรู้ ดังนี้
1. เป็นการเรียนรู้ที่อาศัยประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
2. ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ท้าทายอย่างต่อเนื่อง เป็นการเรียนรู้ที่เรียกว่า Active Learning
3. มีปฎิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง และระหว่างผู้เรียนกับผู้ สอน
4. ปฎิสัมพันธ์ทำให้มีการขยายตัวของเครือข่ายการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง
5. มีการสื่อสารโดยการพูดหรือการเขียนในการแลกเปลี่ยน วิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้จากหลักการเรียนรู้ดังกล่าว ได้นำมาเป็นพื้นฐานในการกำหนดหลักการสอน

หลักการสอน

จากการเรียนรู้ดังกล่าว ได้นำมาเป็นพื้นฐานในการกำหนดหลักการสอนดังนี้

1. จัดการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมอย่างทั่งถึงและมากที่สุด
2. ยึดกลุ่มเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญ
3. ยึดการค้นพบด้วยตนเองของผู้เรียน
4. เน้นกระบวนการเรียนรู้ควบคู้กันไปกับผลการเรียนรู้หรือผลงาน
5. เน้นการนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริง

การจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือเน้นผู้เรียนสำคัญที่สุดนั้น เป็นการจัดการเรียนการสอนที่มีลักษณะดังนี้
1.      มุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน
2.      ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ
3.      ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้จากแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย
4.      ผู้เรียนสามารถนำวิธีการเรียนรู้และองค์ความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงหรือใช้ในชีวิตประจำวันได้
5.      ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนเพื่อพัฒนาผู้เรียน

การออกแบบการจัดการเรียนการสอน

            จากหลักการเรียนรู้และหลักการสอนดังกล่าวข้างต้น  สามารถนำมาเป็นหลักการพื้นฐานในการออกแบบการจัดการเรียนการสอน  ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการออกแบบการจัดการการเรียนการสอนไว้มากมาย  แต่การออกแบบการจัดการการเรียนการสอนที่น่าจะมีประสิทธิภาพสูงและบรรลุจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ได้อย่างดี  คือ  การออกแบบการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ  ซึ่งแสดงองค์ประกอบและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของระบบการออกแบบการจัดการเรียนการอสน 
วิธีการสอน  กิจกรรมการเรียนการสอน  และเทคนิคการสอน
            จากรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ได้นำเสนอข้างต้น  จะเห็นได้ว่ามีองค์ประกอบที่สำคัญที่ผู้สอนจะต้องมีความเข้าใจอย่างชัดเจน  และสามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ
1.                   การกำหนดจุดมุ่งหมายการเรียนรู้
2.                   การกำหนดเนื้อหาสาระและประสบการณ์การเรียนรู้
3.                   การกำหนดรูปแบบการสอน
4.                   การเลือกวิธีการสอน  /  เทคนิคการสอน
5.                   การกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน
6.                   การกำหนดวิธีการจัดและประเมินผล
การกำหนดจุดมุ่งหมายการเรียนรู้และการกำหนดเนื้อหาสาระและประสบการณ์การเรียนรู้ได้นำเสนอรายละเอียดไว้ในเรื่องการวางแผนการสอน   ส่วนรูปแบบการสอนได้นำเสนอรายละเอียดไว้ข้างต้นแล้ว

การสอนเพื่อจุดมุ่งหมายเฉพาะอย่าง

1.                  การสอนเพื่อให้เกิดวามรู้ความเข้าใจ  Klausmier and Hooper   ได้เสนอหลักการสำหรับการสอนเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ  ไว้ว่า  ความรู้  ความเข้าใจ  มี 4 ระดับ  คือ
1)          ระดับของการนึกภาพได้
2)          ระดับของการกำหนดได้
3)          ระดับของการจัดเข้าหมวดหมู่ได้
4)          ระดับของการอธิบายได้
การสอนเพื่อให้เกิดความรู้  ความเข้าใจมี  4  ขั้นตอน  คือ
1)          ระบุจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจน
2)          สำรวจความรู้พื้นฐานของผู้เรียน  ว่ามีเพียงพอหรือไม่  มีพัฒนาการในระดับใด
3)          เสนอนิยามและตัวอย่างได้แก่
3.1)     นิยามคุณลักษณะ  โดยการระบุคุณลักษณะที่สำคัญทั้งหมด  ทำให้คุณลักษณะที่ถูกต้องเด่นออกมา  จัดให้คุณลักษณะที่คล้ายคลึงอยู่ด้วยกันเพื่อลดจำนวน  ใช้สิ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดี  ใช้สิ่งที่ไม่ใช่ตัวอย่างมาช่วยในการสรุปความ  ให้ข้อกำหนดและการปฏิบัติ  และแสดงตัวอย่างที่ไม่คุ้นเคยและแปลกใหม่
3.2 ให้ความคิดรวบยอด   โดยการให้คำจำกัดความเชิงวาจา  และตรวจสอบความถูกต้อง
3.3 ให้ผู้เรียนใช้ถ้อยคำของตนเอง
3.4  สาธิตการใช้ความคิดรวบยอด
4.  ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ  และผู้สอนให้ข้อมูลย้อนกลับ  โดย
4.1 ตั้งคำถามด้วยข้อความอื่น ๆ  เพื่อทดสอบความรู้  ความเข้าใจ
4.2   ตั้งคำถามเพื่อทดสอบว่าผู้เรียนเข้าใจกฎ  และหลักการหรือไม่  หากเข้าใจ  ผู้เรียนต้องสามารถระบุความสัมพันธ์ของสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปแล้ว  ซึ่งทำให้เขาสามารถ  ทำนายผลที่จะเกิดขึ้นได้ควบคุมสถานการณ์ได้   อธิบายสาเหตุได้   แก้ปัญหาได้  และอุปนัยสาเหตุได้

การสอนเพื่อให้เกิดเจตคติที่ดี  Yelon  and  Weinstein   ได้เสนอขั้นตอนของการสอนเพื่อให้เกิดเจตคติที่ดี  ไว้ดังนี้
1)      กระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เลือกอย่างอิสระเสรี
2)      ช่วยให้ผู้เรียนได้สำรวจทางเลือกต่าง ๆ
3)      ช่วยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสชั่งน้ำหนักผลของทางเลือกแต่ละทาง
4)      กระตุ้นให้ผู้เรียนได้พิจารณาถึงสิ่งที่ทำให้ชื่นชมหรือภาคภูมิใจ
5)      เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ตัดสินใจด้วยตนเอง
6)      ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติตามทางเลือกที่เขาเลือกด้วยตนเอง




การสอนเพื่อให้เกิดทักษะ   Yelon  and Weinstein  ได้เสนอขั้นตอนของการสอนเพื่อให้เกิดทักษะไว้ดังนี้
1)      ขั้นการสร้างความรู้ความเข้าใจสำหรับนำไปปฏิบัติ
1.1)      ระบุจุดมุ่งหมาย
1.2)      ทดสอบความรู้พื้นฐานที่จำเป็น
1.3)      ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันอภิปรายสิ่งที่จะเรียนรู้และทักษะปฏิบัติ
1.4)      สาธิตทักษะที่สมบูรณ์  บรรยายรายละเอียดของกระบวนการที่ต้องปฏิบัติ
2)      ขั้นปฏิบัติ
            2.1)     ให้ผู้เรียนแสดงทักษะ
            2.2)     ฝึกฝน  ทำหลาย ๆ ครั้ง
            2.3)     แบ่งออกเป็นงานย่อย ๆ เพื่อให้ปฏิบัติได้ง่าย
            2.4)     กระจายการฝึกปฏิบัติ
            2.5)     ฝึกปฏิบัติแบบเข้ม
            2.6)     ฝึกด้วยความเข้าใจ
            2.7)     ดูพื้นฐานของผู้เรียนก่อนกำหนดความมากน้อยของการฝึก
            2.8)     ให้ข้อมูลป้อนกลับ
3)      ขั้นการประชาสัมพันธ์
3.1)     ทำให้การปฏิบัติที่ถูกต้องกลายเป็นสิ่งอัตโนมัติ   พร้อมความเร็วที่เพิ่มขึ้น  และเวลาสั้นลง
3.2)     การฝึกมากเกินไป  อาจทำให้เบื่อ  ความสำเร็จทันทีมีความสำคัญมากกว่า
3.3)     อย่าหวังว่าผู้เรียนทุกคนจะทำได้ดีอย่างสมบูรณ์  เพราะทักษะแต่ละทักษะต้องอาศัยการประสานสัมพันธ์หลาย ๆ  อย่างซึ่งผู้เรียนแต่ละคนมีไม่เท่ากัน
องค์ประกอบที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพของกิจกรรมการเรียนการสอน
1)   บทบาทการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนของผู้เรียน
2)   จำนวนผู้เรียนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างกระตือรือร้น
-       จำนวนประมาณ  10 39 %  ถือว่าอยู่ในระดับน้อย
-       จำนวนประมาณ  40 -  59 %  ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง
-       จำนวนประมาณ  60 -  79 %  ถือว่าอยู่ในระดับมาก
-       จำนวนประมาณ  80  -  100% ถือว่าอยู่ในระดับมากที่สุด









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น